Women in Power สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) จัดเสวนา Women in Power Electronics Forum : Renewable Energy Systems, Transportation and Industrial Applications” ขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของโลก


สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง Women in Power Electrics Forum: Renewable Energy Systems, Transportation, and Industrial Applications  โดยสมบัติ จันทร์กระจ่าง รองผู้ว่าการ ยุทธศาสตร์องค์กรและความยั่งยืน การไฟฟ้านครหลวง กล่าวเปิดงานและเชิญวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ร่วมเสวนาบนเวที เพื่อถ่ายทอดความรู้ นำเสนอเทคโนโลยี และแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ Power Electronics ที่ใช้ในการออกแบบและประยุกต์ใช้งานเพื่อควบคุมแรงดันและความถี่ในโครงการพลังงานทดแทน เช่น Battery Energy Storage System (BESS) และ FACTS (Flexible Alternating Current Transmission Systems) รวมถึงการเชื่อมโยงและส่งจ่ายไฟฟ้าแรงดันสูงด้วย High Voltage Direct Current Transmission System (HVDC) และการแปลงกระแสไฟฟ้าโดยใช้ Inverter และ Converter ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้อง Auditorium อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย กรุงเทพมหานคร

สมบัติ จันทร์กระจ่าง รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กรและความยั่งยืน การไฟฟ้านครหลวง กล่าวเปิดงานว่า การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ทำให้การพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน อิเล็กทรอนิกส์กำลัง การขนส่ง และการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ได้ครอบคลุมประเด็นสำคัญในหลายๆ ประเด็น เริ่มต้นด้วยการเน้นย้ำถึงบทบาทของอิเล็กทรอนิกส์กำลังในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์กำลังในภาคขนส่ง โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV และระบบการชาร์จไฟฟ้า ซึ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของยานพาหนะ และลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้มีการนำเสนอวิธีการใช้พลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิต และการจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากกรณีศึกษาและตัวอย่างความสำเร็จในระดับสากล นอกจากนี้งานนี้ยังให้ความสำคัญถึงบทบาทของผู้หญิงในสาขาอิเล็กทรอนิกส์กำลัง ด้วยการนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จ รวมถึงอภิปรายเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทาย และแนวทางในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิง

จากนั้นเป็นการเสวนา โดยตัวแทนของ 7 หน่วยงาน ได้แก่ ดร.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนการเชื่อมต่อและความร่วมมือระบบไฟฟ้าฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),  เพชรรัตน์  ลิ่วเฉลิมวงศ์  วิศวกรไฟฟ้า กองธุรกิจเกี่ยวเนื่องหน่วยงานรัฐ ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง, ธิดารัตน์ มัทราช รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ผศ.ดร.เพ็ญนภา  ไพโรจน์อมรชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ผศ.ดร.อัจฉรา พิเชฐจำเริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กีรติศิริ  วรรณพรรณ  ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการขาย-ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าแรงสูง  บริษัทฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย), ญาดา  รุ่งเรือง วิเศษรัตน์ รองประธานกลุ่มธุรกิจ Power System. บริษัทชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ Women in Power Electrics Forum: Renewable Energy Systems, Transportation, and Industrial Applications” ซึ่งกล่าวถึงแนวทางและการประยุกต์ใช้อิเล็กทรอนิกส์กำลังในองค์กรของแต่ละหน่วยงานที่ครอบคลุมถึงระบบขนส่งสมัยใหม่ (Smart Transportation) เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟฟ้า รวมถึงระบบโซลาร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย

ดร.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนการเชื่อมต่อและความร่วมมือระบบไฟฟ้าฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงความท้าทายและโอกาสของอนาคตในบริบทของ กฟผ. ในภาคการศึกษาและส่วนของซัพพลายเออร์ว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และก้าวเข้าสู่ Net Zero ในปี 2065 ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรไฟฟ้าเราสามารถช่วยผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้นได้ หรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้มากที่สุด เพื่อนำพาไปสู่การปลดปล่อยก๊าซต่อไป ในขณะที่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 ภาคไฟฟ้าควรมี Renewable Energy อยู่ที่ 50% ของกำลังผลิตติดตั้ง เช่นเดียวกับภาคขนส่งเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันเราเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทของ Carbon Neutrality ที่ตั้งเป้าสัดส่วนการใช้รถ EV อยู่ที่ 30% นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้มีการนำเข้า RE บางส่วน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เข้ามาเพื่อปรับเปลี่ยนราคาค่าไฟให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม รวมถึงการทำ IPS หรือ Isolated Power Supply โซลาร์รูฟในโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการผลิต RE ด้วยตนเองมากขึ้น

จากพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟที่เปลี่ยนแปลงไป เพชรรัตน์  ลิ่วเฉลิมวงศ์  วิศวกรไฟฟ้า กองธุรกิจเกี่ยวเนื่องหน่วยงานรัฐ ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คนหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งระบบโซลาร์เซลล์เป็นการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีลูกค้าถึง 17,523 ราย ที่ทำการเชื่อมต่อขนานในเรื่องของโซลาร์เซลล์กับการไฟฟ้านครหลวง โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อใช้เองถึง 6,446 ราย และผลิตเพื่อซื้อขายถึง 11,446 ราย ซึ่งจากสถิติการซื้อขายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงพบว่า ปี 2567 มีการซื้อขายอยู่ที่ 124 ล้านหน่วย ทั้งนี้ในอนาคตเราคาดการณ์ว่าเราสามารถรองรับการจ่าย IE ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบไฟฟ้า การบริการ และ Renewable Energy ทั้งหมดที่จะโตขึ้นอีกเกือบ 50%

นอกจากการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน การใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) เองก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ธิดารัตน์ มัทราช รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ในกรุงเทพมีการใช้รถ EV ถึง 5% ด้วยเหตุผลในเรื่องของราคาที่ไม่แพง  จึงทำให้ปัจจุบันสัดส่วนการใช้รถพลังงานไฟฟ้าบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่หันมาใช้รถ EV เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า 1 ใน 3 ของรถใช้น้ำมัน ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการในการลดค่าใช้จ่าย ทำให้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน เพียงแต่เราต้องใช้เวลาในการสร้าง Eco System ในการชาร์จเติมพลังงานรถบรรทุก จากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของรถพลังงานไฟฟ้าทำให้เกิดเป็นตลาดใหม่ นั่นก็คือการสร้างสถานีประจุ ซึ่งเป็นสถานีจ่ายไฟ เพื่อส่งต่อแบตเตอรี่ผ่านเข้ารถยนต์ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่สูง ขณะที่ภาครัฐได้ส่งเสริมให้มีการใช้งานรถ EV มากขึ้น ด้วยการคิดอัตราค่าไฟพิเศษต่อผู้ประกอบการตั้งสถานีประจุ ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าค่าเฉลี่ย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ทั้งนี้ยังเปิดตัวแอปพลิเคชัน PEA VOLTA ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับจัดการสถานีที่รวมอยู่ในเครือข่าย เพื่อรองรับการเชื่อมโยงเครือข่ายสถานีชาร์จกับผู้ให้บริการเครือข่ายสถานีชาร์จรายอื่น

ด้านกีรติศิริ วรรณพรรณ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการขาย-ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าแรงสูง  บริษัทฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ Power Electronics ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ระบบภาคผลิตจนถึงผู้ใช้งาน เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้เรามากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้สมาร์ทโฟน การโดยสารด้วยรถไฟฟ้า และรถ EV รวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้ไฟฟ้าในการผลิต จากการเปลี่ยนแปลงด้านระบบพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้ในปี 2035 เราจะใช้ Renewable Energy มากยิ่งขึ้นถึง 40% ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีกังหันลม หรือโซลาร์เซลล์ก็จะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งเทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็คือ Power Electronics Panel ซึ่งเป็นการแชร์และแบ่งปันพลังงานทดแทนโดยใช้ระบบไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง (HVDC) เชื่อมโยงระหว่างประเทศและทวีป ที่ตอบโจทย์และพาเราเดินทางสู่ NetZero ได้ในอนาคต เรียกได้ว่า Power Electronics ถือเป็นตัวช่วยในการพัฒนาและก่อให้เกิดไฟฟ้าในระยะทางที่ห่างไกล และช่วยเปลี่ยนกระบวนการอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ และช่วยโครงสร้างพื้นฐานในด้านของการขนส่งให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาความมั่งคั่งของประชาชนในประเทศให้มีพลังงานไฟฟ้าที่ถูกลง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน

ขณะที่ Infrastructure และ Home automation ญาดา  รุ่งเรือง วิเศษรัตน์ รองประธานกลุ่มธุรกิจ Power System. บริษัทชไนเดอร์(ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า การไฟฟ้าและการขนส่งถือเป็น Infrastructure หลักของโลก ในฐานะของผู้ผลิตเราต้องเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเทรนด์แรกที่จะมาขับเคลื่อน Infrastructure ก็คือ Clean Energy ซึ่งการมาของ RE ทำให้ Power Electronics มาหยุด Grid โดยเฉพาะ ซึ่ง Grid เป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่ายไฟจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อเราต้องปรับปรุง Grid เราจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล โดยทางชไนเดอร์สามารถใช้ซอฟแวร์มาช่วยในการบริหารจัดการและพยากรณ์ Grid ขณะเดียวกันการมาของ EV หรือรถไฟฟ้าทำให้การบริหารจัดการในส่วนของ Grid ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตเราได้มีการเตรียมพร้อมในส่วนนี้ ด้วยการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้งาน นอกจากการไฟฟ้าและการขนส่งแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ Home automation ซึ่งปัจจุบันบ้านประกอบด้วย Power Electronics กันมากขึ้น ทั้งโซลาร์รูฟท็อป และ EV Charger ซึ่ง Home automation ถือว่าเข้ามามีบทบาทและใกล้ตัวเรามากขึ้น ขณะที่ต่างประเทศมีการดีไซน์โซลูชันโดยไม่จำเป็นต้องใช้ไฟจาก Grid แต่เปลี่ยนเป็นการผลิตไฟเอง ใช้เอง หรือที่เรียกว่า Prosumer ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามองในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อดีแล้ว ก็จะมีผลข้างเคียงตามมาในรูปแบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ผศ.ดร.เพ็ญนภา  ไพโรจน์อมรชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ในส่วนของผลข้างเคียงของ Power Electronics มีความเป็นไปได้ว่ามันสามารถที่จะสร้างเครื่องแม่เหล็กออกมารบกวน หรือที่เรียกว่า EMC ซึ่งเป็นการที่อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่มี Power Electrics อยู่ด้านใน สามารถที่จะทำงานร่วมกันในสิ่งแวดล้อมเดียวกันได้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดการรบกวน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ EMI คือการรบกวน และ EMS คือการถูกรบกวน ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้ง indoor และ outdoor หากเป็น outdoor สาเหตุจะมีตั้งแต่ระบบการสื่อสารที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่บนท้องถนนจากการใช้รถ EV ขณะที่ indoor จะเกิดกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน ที่สามารถเกิดคลื่นแม่เหล็กเข้ามารบกวนการทำงานได้ จากความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้มีองค์กรเข้ามาจัดระเบียบให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถทำงานได้ในสถานการณ์ที่มีคลื่นแม่เหล็กรบกวน

ผศ.ดร.อัจฉรา จำเริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการเรียนการสอนของอิเล็กทรอนิกส์กำลังในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนในภาควิชานี้เป็นการสอนแบบรวม ในทุกสาขาวิชา โดยแบ่งแผนการเรียนตามวิชา ซึ่งวิชา Power Electronics เราจะเรียนในปี 3 ในภาคการศึกษาที่ 2 แบ่งเป็นวิชาเลือกที่เกี่ยวข้อง เช่น Electric drive , Renewable Energy และ Energy Storage ซึ่งเรียนในปีที่ 4 นอกจากนี้ปีที่ 4 เรามี Senior project ให้นักศึกษาเลือกเฉพาะทาง Power E ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือในการทำวิจัยกับบริษัทชั้นนำในประเทศไทย ด้วยการนำโจทย์หรือปัญหาจากอุตสาหกรรมมาทำงานวิจัย และได้รับการสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์และเครื่องมือ Power Electronics จากภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ภายในงานเสวนาในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทั้งในออนไลน์และภายในห้องประชุมสามารถถามคำถามและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่ออภิปรายและแสดงความคิดเห็น อันเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save