เดินหน้ายับยั้งวิกฤติขยะที่มาจากอาหาร


องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ข้อที่ 12 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย 12.3 ว่าด้วยการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ. 2573

สถานการณ์ปัญหาขยะที่มาจากอาหารในระดับโลก

จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ (FAO) 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคของมนุษย์ทั่วโลกหรือประมาณ 1,300 ล้านตัน ถูกทิ้ง อาหารที่ถูกทิ้งนี้มากเกินเพียงพอที่จะเป็นอาหารสำหรับประชากรที่หิวโหย 800 ล้านคนทั่วโลก แต่อาหารที่ยังรับประทานได้เหล่านี้ กลับมาจบลงที่บ่อขยะ ซึ่งเมื่ออาหารจากบ่อขยะได้เข้าสู่กระบวนการย่อยสลายก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาขยะจากอาหารเป็นปัญหาที่เร่งด่วนและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

ดร. มัชแท็ค มีมอน ผู้แทนจากองค์การสิ่งแวดล้อม แห่งประชาชาติ กล่าวว่า ทั่วโลกมีการผลิตอาหารที่ให้พลังงาน 2,831 แคลลอรี่ต่อคนต่อวัน แต่ความเป็นจริงแล้วคนเราต้องการอาหารน้อยกว่า 2,000 แคลลอรี่ และ 1 ใน 3 ของทุกผลผลิตที่ปลูกบนโลกใบนี้ สูญเสียไปในระหว่างการเก็บเกี่ยวจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,300 ล้านตัน และในจำนวนนี้สามารถเลี้ยงดูผู้หิวโหยได้ถึง 870 ล้านคน ในขณะที่อีก 671 ล้านคนอ้วนเกินไป โดยถ้าการสูญเสียอาหารทั้งหมดเปรียบเทียบเป็นประเทศ 1 ประเทศ จะกลายเป็นประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 3  ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และจีน ทั้งนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกและภาคเอกชนในการปฏิบัติตามเป้าหมาย 12.3 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ

“ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวภายในปี 2573”

คนไทยติดนิสัยการกินทิ้งกินขว้าง

รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพนธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากริเริ่มสำรวจตลาดต่างๆ พบว่ามีอาหารเหลือในปริมาณมาก นำไปสู่การทิ้งเป็นขยะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆ เช่น มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิการกุศลต่างๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการแบ่งปันอาหารหรือสินค้าที่ยังใช้ได้ดี ที่จะนำไปทิ้งเป็นขยะ เพื่อนำไปให้กับสังคม อย่างโครงการ “กินได้ ไม่ทิ้งกัน” ของเทสโก้ โลตัส นับเป็นเรื่องราวที่ดี และทำได้จริง ตั้งแต่การคำนวณการนำเข้าสินค้า การขายออกไปในแต่ละวัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ รวมไปถึงการนำสินค้าที่ไม่ได้ขายแล้ว แต่ยังคงมีคุณภาพไปมอบให้แก่ชาวบ้านเพื่อนำไปบริโภคต่อ ที่นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะอาหารแล้ว ยังเป็นการแบ่งปันน้ำใจให้กับสังคมได้อีกด้วย

คนไทยโดยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงปัญหาของขยะอาหาร มักกินทิ้งกินขว้างเป็นจำนวนมาก กินไม่หมดทำให้เหลืออาหารทิ้งจำนวนมาก รวมถึงการรับประทานอาหารไม่หมดจาน การกักตุนอาหารไว้ เมื่อเก็บไว้สักพักก็ทิ้ง สาเหตุมาจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการซื้อที่ไม่เหมาะสม ทำให้ส่วนนี้เกิดเป็น Demand เทียมขึ้นมา ผู้ผลิตอาหารและสินค้าก็จะเพิ่มจำนวนผลผลิตให้มากขึ้นตาม Demand ของผู้บริโภค เพราะเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการซื้อในจำนวนมาก ในขณะที่ความเป็นจริงผู้บริโภคซื้อมาแล้วใช้ไม่หมดกลับทิ้งไปบ้าง ฉะนั้น จึงควรเริ่มจากตัวผู้บริโภคทุกคนก่อนเป็นลำดับแรก ด้วยการบริโภคอาหารและสินค้าตามความต้องการในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำมีความสมดุลกัน ปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้นก็จะค่อยๆลดลง

ปัญหาขยะที่เกิดจากอาหาร

วานิช สาวาโย ผู้อำนวยการส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ขยะอาหารเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องขยะมูลฝอย ซึ่งจากตัวเลขสถิติที่ผ่านมา เมื่อ 2559 พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27 ล้านตัน หรือ 74,130 ตันต่อวัน ในองค์ประกอบของขยะที่ทิ้งไป สัดส่วนของผู้ที่ก่อให้เกิดขยะคือเราทุกคน พบว่า 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน  โดยสามารถนำขยะส่วนนี้กลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 22% ที่เหลือจะส่งให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร หรืออปท.ต่างๆทั่วประเทศ รวบรวมเพื่อนำไปกำจัดที่ปลายทางในรูปแบบฝังกลบต่อไป ซึ่งในบ้านเราประสิทธิภาพยังไม่ค่อยเต็มที่มากนัก ทั้งนี้ ใน 64% ของขยะมูลฝอยมาจากอาหารหรือที่เรียกว่าขยะอินทรีย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ใบไม้ ดอกไม้ หญ้ากิ่งไม้ เปลือกผักผลไม้ และขยะอาหาร ซึ่งเป็นขยะที่เกิดจากการทิ้งอาหารที่บริโภคได้ แต่เป็นส่วนเกินหรือเสียหาย เช่น อาหารที่ปรุงแล้ว ผัก ผลไม้ ข้าว วัตถุดิบ ประกอบอาหารต่างๆ ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการกำจัดขยะของประเทศไทยไม่สามารถกำจัดขยะได้ทั้งหมด โดย 42% ของขยะมูลฝอย ถูกกำจัดไม่ถูกวิธี นำไปสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษพยายามทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจปริมาณขยะอาหารออกมาเป็นตัวเลขที่แท้จริง นำไปสู่การวางแผนนโยบายเพื่อที่จะควบคุมหรือลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยลง

“กรมควบคุมมลพิษมีนโยบายการจัดการขยะอาหารที่สอดคล้องกับสหประชาชาติ สู่เป้าหมายของการพัฒนายั่งยืน ในข้อ 12.3 นั่นคือ พยายามลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เข้ามาร่วมกันเพื่อช่วยลดปริมาณขยะอาหาร ถือเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาในภายภาคหน้า”

กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร

มร.จอห์น คริสตี้ ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัสในฐานะห้างค้าปลีกชั้นนำของประเทศไทย ที่จำหน่ายสินค้าประเภทอาหารในปริมาณมาก ตระหนักถึงบทบาทของเราในการช่วยลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูกจนถึงมือผู้บริโภค จากการศึกษาวิจัยขององค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ 54% ของขยะอาหาร เกิดขึ้นจากต้นน้ำ ในกระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และการจัดเก็บ ในขณะที่ 46% เกิดขึ้นกลางน้ำและปลายน้ำ จากกระบวนการตัดแต่ง และขนส่ง จำหน่าย และเหลือจากการบริโภค

ตั้งแต่ปี 2552 เทสโก้ โลตัส ได้ริเริ่มซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร ตลอดจนทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรทั่วประเทศ ในการวางแผนการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานเทสโก้ โลตัส ในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาด ลดความปัญหาผลิตผลทางการเกษตรล้นตลาด และลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตจนเกิดเป็นศูนย์เทสโก้ โลตัส สร้างโรงบรรจุที่แหล่งเพาะปลูกหรือใกล้แหล่งเพาะปลูกที่สุด เพื่อตัดแต่งและบรรจุ จึงช่วยรักษาความสดของสินค้า ให้เก็บไว้รับประทานได้มากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นผักและผลไม้จะถูกส่งมายังศูนย์กระจายสินค้า โดยใช้รถบรรทุกสินค้าควบคุมอุณหภูมิตลอดเส้นทาง ซึ่งช่วยยืดอายุและความสดของสินค้า จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ในสาขาทั่วประเทศของเรา

เทสโก้ โลตัส เริ่มโครงการ “กินได้ ไม่ทิ้งกัน” ลดปัญหาขยะจากอาหาร

เทสโก้ในสหราชอาณาจักร เป็นผู้นำร่องโครงการและได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ภายในปี 2560 ร้านค้าของเทสโก้ในสหราชอาณาจักรทุกสาขาจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับองค์กรการกุศลและกลุ่มชุมชนกว่า 5,000 องค์กร เพื่อนำสินค้าที่บริจาคไปประกอบเป็นอาหารให้กับผู้ยากไร้

ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการแผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกของประเทศไทยที่ประกาศเจตนารมณ์ในการไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ เพื่อบริจาคให้กับผู้ด้อยโอกาส ภายใต้โครงการ “กินได้ ไม่ทิ้งกัน” เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดจากอาหารและสามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั่วประเทศ โดยได้เริ่มบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับผู้ยากไร้ตั้งแต่ปีที่ 2559 อาทิ ข้าวสารเฉลี่ย 500 กิโลกรัมต่อเดือน ผักและผลไม้สด อาหารแห้ง ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารให้กับผู้ด้อยโอกาสถึงเกือบ 1 ล้านมื้อ โดยอาหารและสินค้าเหล่านี้จะส่งผ่านทางฮอลไทยแท็กซี่ไปยังมูลนิธิกระจกเงา และองค์กรไทยฮาร์เวส เอสโอเอส เพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารให้กับประชาชนต่อไป

SOS เปลี่ยนอาหารที่ถูกทิ้ง กลับมาสู่ชุมชนที่ต้องการ

โปว้ เจาฉิน เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชน องค์กรไทยฮาร์เวส เอสโอเอส กล่าวว่า ไทยฮาร์เวส เอสโอเอส เริ่มทำงานโดยการรับบริจาคอาหารทางโรงแรม ภัตตาคาร ซุปเปอร์มาเก็ต โดยเป้าหมายแรกเริ่มคือการนำอาหารไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เน้นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการอำนวยความสะดวกในด้านการบริจาคอาหารให้กับผู้รับ โดยหลักๆจะรับเป็นอาหารสด เพื่อจะช่วยยืดอายุอาหารในการนำไปบริจาค ทั้งนี้ ทีมงานไทยฮาร์เวส เอสโอเอส จะทำงานร่วมกับมูลธิอื่นๆอย่างมูลนิธิผู้ลี้ภัย โดยกลุ่มคนหลักๆเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำงานได้ การซื้ออาหารก็จะเป็นภาระอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ชุมชนเด็กเล็ก ซึ่งต้องมีผู้ดูแล ดังนั้นผู้ที่ดูแลกลุ่มคนเหล่านั้น ต้องดูแลทั้งเรื่องอาหารการกิน ถ้าสามารถนำอาหารไปบริจาคให้คนเหล่านี้ได้ จากปกติจะต้องนำเงินไปซื้ออาหาร ก็สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อีกทีหนึ่ง

ขยะที่มาจากอาหารอาจจะค่อยๆหมดไปในอนาคต หากเริ่มตั้งแต่วันนี้ โดยผู้บริโภคทุกคนรู้หลักของการบริโภคที่พอเพียง บริโภคตามการใช้งานที่เหมาะสม รวมไปถึงผู้ผลิตที่เข้าถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เพื่อส่งต่ออาหารและสินค้าตามความต้องการในผู้บริโภค โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด เพียงเท่านี้ก็เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถลดปริมาณขยะอาหารได้อย่างแน่นอน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save