เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานแบบก้าวหน้า ตอบโจทย์การใช้ระบบโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน


          องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และกระทรวงพลังงาน ร่วมกันจัดงานสัมมนาโครงการพลังงานทดแทนชุมชน ไทย-เยอรมัน ครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาและการดำเนินโครงการพลังงานทดแทนในระดับชุมชน รวมไปถึงเทคโนโลยีพลังงานทดแทนระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากเยอรมัน ไทย และตัวแทนชุมชน อีกทั้งเพื่อสร้างและดำรงเครือข่ายพลังงานทดแทนระดับชุมชนในประเทศไทย

โดยภายในงาน ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติได้มีโอกาสพบกับผู้แทนชุมชนเพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกริดพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน

          หร่อหยา จันทรัตนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กระทรวงพลังงานได้ร่วมดำเนินการตามเป้าหมายที่ 7 ด้านสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา ในอดีตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ราคาค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ที่ราคาสูงแต่ประสิทธิภาพต่ำ ปัจจุบันเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน แบตเตอรี่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาต่ำลง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใกล้เคียงกับไฟฟ้าของทางภาครัฐ และด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สามารถผลิตได้เฉพาะช่วงกลางวัน จึงจำเป็นต้องกักเก็บพลังงานสำหรับใช้ในช่วงกลางคืน

 

“ระบบกักเก็บพลังงานมีความจําเป็นสำหรับระบบไฟฟ้าในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากระบบกักเก็บพลังงานสามารถส่งเสริมให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพและรักษาคุณภาพไฟฟ้าได้

 

          ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) คือ ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถแปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานในรูปแบบอื่นเพื่อให้สามารถกักเก็บไว้เพื่อการใช้งานในเวลาอื่นที่จำเป็นได้ โดยระบบกักเก็บพลังงานจะแปลงพลังงานที่กักเก็บไว้ในกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกครั้งเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ ระบบกักเก็บพลังงานที่ดีจะต้องลดความสูญเสียในการแปลงรูปพลังงานให้เหลือน้อยที่สุด ระบบกักเก็บพลังงานนั้นมีหลากหลายรูปแบบและมีตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น แบตเตอรี่โทรศัพท์ ไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ (Pumped-storage Hydropower Plant) เป็นต้น

          ระบบกักเก็บพลังงานมีขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  เดิมที่ระบบกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่จะเป็นแบบตะกั่วกรด (Lead-acid Battery) ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในพื้นที่มากกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวยังคงมีจุดอ่อน เช่น มีสารโลหะหนัก สารพิษ ไอพิษ หรือสารตกค้างอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจจะรั่วไหลไปสู่แหล่งน้ำและดิน ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของคนในท้องถิ่น อีกทั้งแบตเตอรี่ชนิดนี้มีรอบการจ่ายไฟจำกัด ชุมชนต้องจ่ายเงินในการเปลี่ยนแบตเตอรี่เฉลี่ยปีละกว่า 1,500-3,000 บาทต่อครัวเรือน กอปรกับการขนย้ายลำบากเพราะมีน้ำหนักมาก

          สำหรับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือระบบสายส่งไปไม่ถึงนั้น เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อการนำพลังงานที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เพื่อนำไปใช้ในช่วงกลางคืน อย่าง เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กว่าครึ่งตำบลที่อยู่ในเขตพื้นที่อุทยาน ไฟฟ้าสายส่งเข้าไม่ถึง จึงมีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์

          หลังจากที่เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ตำบลป่าเด็ง ประสบปัญหาจากการใช้ระบบกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด ชุมชนมีความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน กับการใช้ในในระบบโซลาร์เซลล์ โดยมีสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน เป็นผู้อบรมให้ความรู้ และบริษัท โฟเซร่า จำกัด ผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน จากประเทศเยอรมนี ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูงที่กักเก็บพลังงานด้วย Battery Lithium-lron-Phosphate (LiFePO4) ใช้กับแสงสว่างและอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสตรง  3.25V และ 12V มีน้ำหนักเบาขึ้นกว่าเดิม ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัด และอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิม สามารถชาร์จให้เต็มได้เร็วกว่า คายประจุได้ช้ากว่า

          สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน เป็นผู้ประสานงาน จนสามารถพัฒนาเป็นโครงการความร่วมมือ “การสนับสนุนอุปกรณ์โซลาร์เซลล์เพื่อการพัฒนาชุมชนตามแนวทางประชาเอกรัฐ” และได้จัดกิจกรรมกิจกรรมรับมอบอุปกรณ์ ภายในงานมีการให้ความรู้ด้านการติดตั้ง การดูแลรักษาระบบ การวิเคราะห์ปัญหาในการใช้เบื้องต้น โดยมีอุปกรณ์ที่น่าสนใจ เช่น Fosera รุ่น Blue Line PSHS และรุ่น Power Line LSHS ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) แรงดันต่ำเพียง 3.25 โวลต์ และ 12 โวลต์ ที่หลากหลาย เช่น หลอดไฟ LED วิทยุ โทรศัพท์ ทีวี พัดลม เป็นต้น โดยมีพอร์ต USB ในตัวช่วยให้สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือและเครื่องเล่น MP3 ได้อย่างง่ายดาย เป็นทางเลือกที่เหมาะสมเมื่อให้พลังงานไฟฟ้าในชนบท มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ทันสมัยและส่วนประกอบที่มีคุณภาพสูง Fosera ใช้แบตเตอรี่ LiFePO4 มีประสิทธิภาพสูงและทนต่อการชาร์จ ใช้ได้กว่า 5,000 ครั้ง ทำให้ระบบสามารถรองรับการบำรุงรักษาได้ถึง 10 ปี สำหรับแสงสว่างใช้หลอด LED ประสิทธิภาพสูงด้วย ที่ให้ความสว่างได้ถึง 135 lm / W ประหยัดกว่าหลอด LED กระแสตรง ทั่วไปกว่า 40% อายุการใช้งานเกินกว่า 50,000 ชั่วโมง กล่องแบตเตอรี่ Fosera มีคุณลักษณะการป้องกันอัจฉริยะหลายแบบรวมอยู่ด้วย

          นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ชุดโคมไฟถนน Commlight ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาไฟถนนรุ่นเก่าซึ่งมีรอบค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูงและบ่อยเกินไป ต้องมีการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่เป็นประจำ มีเทคโนโลยีการชาร์จที่ไม่ได้รับการปรับแต่ง ไม่มีป้องกันการขโมย Commlight รุ่น 800 lumen ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต Battery Lithium-Iron-Phosphate (LiFePO4) ประสิทธิภาพสูง LEDs การจัดการพลังงานที่ทันสมัย การออกแบบ All-in-one อุปกรณ์ทุกอย่างรวมอยู่ในชิ้นเดียว ต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำ การติดตั้งที่รวดเร็วและยืดหยุ่นมีระบบป้องกันการขโมย ลักษณะเฉพาะของแบต LiFePO4 รอบการชาร์จไฟมากกว่า 2,000 ครั้ง สูงกว่าแบตเตอรี่กรดตะกั่ว 6 เท่า ไม่มีโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น ตะกั่ว, แคดเมียม และกรดกัดกร่อน ใช้หลอด LED ประสิทธิภาพสูง

 

          จากความร่วมมือของฝ่ายราชการ เอกชน และประชาชน (ประชาเอกรัฐ) ทำให้ชุมชนยกระดับสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ Solar Off Grid แห่งแรกที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานแบบก้าวหน้า LiFePO4 หรือลิเทียมไอออนฟอสเฟต (Lithium Iron Phosphate) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตามแนวทาง Energy 4.0 ที่บริหารจัดการโดยชุมชน โดยมี สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน เป็นพี่เลี้ยงเชื่อมโยงความรู้ประสานความร่วมมือกับเอกชน วางเป้าหมายต่อยอดสู่การทำธุรกิจเพื่อสังคม สร้างอาชีพด้านพลังงานทดแทนเพื่อชุมชน Social Energy Community Enterprise (SECE) ต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save