มาร์ค บัคลี่ย์ นำเทรนด์ปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหาร รณรงค์เพื่อโลกยั่งยืน


องค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่าในปี ค.ศ. 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มจำนวนเป็น 8,500 ล้านคน นั่นหมายความว่าจำนวนอาหารที่ผู้คนทั่วโลกบริโภคต้องทวีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อุตสาหกรรมอาหารจึงถือเป็นกุญแจหลักสำคัญ ที่จะชี้วัดความยั่งยืนของมนุษย์ในอนาคต จึงมีการรณรงค์ให้อุตสาหกรรมอาหารในอนาคตเน้นกระบวนการผลิตเพื่อสร้างความยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy

หากแต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีการผลิตยังไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนใช้ทรัพยากรเกินความต้องการ เกิดของเสีย ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ สาเหตุใหญ่ที่ทำให้โลกใบนี้แปรปรวนเพราะขาดความสมดุล ที่สำคัญการผลิตแบบอุตสาหกรรมอาหารในแบบเดิม กลับไม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดภัย มีคุณค่าอาหารสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

The Future of Food = กระบวนการผลิตอาหารที่ยั่งยืน

มาร์ค บัคลี่ย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Adaptive Nutrition Joint ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ผู้ที่มีความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงโลก ที่อาจจะกำลังเดินไปสู่ทางตัน โดยมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy คือ ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่โลกที่ดีกว่า สวยงามกว่า โดยที่ผู้คนมีอาหารดีกิน สุขภาพดี หายใจรับอากาศอันบริสุทธิ์ มีอายุยืนยาว ตามมาด้วยสังคมที่ดี

มาร์ค ได้นำเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยในเรื่องของกระบวนการผลิตและการบริหารธุรกิจ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้คำปรึกษาด้านระบบนวัตกรรม การรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ ออร์แกนิค และผลิตภัณฑ์

มาร์คกล่าวถึงเทรนด์อาหารแห่งอนาคตว่า “ปกติเวลาที่คนทั่วไปพูดถึงเทรนด์อาหารโลก หลายคนมักพูดถึงเทรนด์การรับประทานอาหารวีแกน กีโต มังสวิรัติ ออร์แกนิก หรือการบริโภคอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล แต่ผมคิดว่าอาหารแห่งอนาคต (The Future of Food) ควรหันมาให้ความสำคัญกับการคิดค้นกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนมากกว่าประเภทของอาหาร และควรทำในลักษณะเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ยังทำให้แร่ธาตุและวิตามินของอาหารยังอยู่ครบ สูญเสียทรัพยากรให้น้อยที่สุด และหาทางนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่”

ทั้งนี้มาร์ค ชี้ว่า อาหารถือเป็นปัจจัยที่จำเป็นมากที่สุดซึ่งอยู่ใต้ฐานปิรามิด หากคนในสังคมผลิตอาหารเพื่อความยั่งยืนแล้วก็จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนด้านอื่นๆ ตามมา

Mindmap ของ มาร์ค บัคลี่ย์ นำเทรนด์ปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหาร รณรงค์เพื่อโลกยั่งยืน

ความยั่งยืนเริ่มต้นจาก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ก่อนอื่นทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า Circular Economy คืออะไร Circular Economy คือเศรษฐกิจแบบระบบปิด (Close Loop) นั่นหมายถึง การทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีขยะ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานหมุนเวียน การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และตั้งราคาที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงซึ่ง Circular Economy สามารถทำได้ทั้งในระดับบุคคล ภาคธุรกิจ สังคม ประเทศ และนำมาประยุกต์ได้ทั้งทุกภาคส่วน ในระดับบุคคล แค่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และทำให้เกิดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ภาคธุรกิจ ถือเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องคิดแทนผู้บริโภคด้วยการหาวิธีที่ทำให้สินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ที่ตนผลิตนั้นย่อยสลายให้ได้มากที่สุด หรือนำมากลับมาใช้ใหม่อย่างไรได้บ้าง เช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มอาจจะใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วแทนพลาสติก โดยใช้น้ำฝนในการล้างบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาบรรจุใหม่ หรือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เฉพาะที่สามารถนำไปเติมเครื่องดื่มได้ตามตู้กดเมื่อต้องการ เป็นต้น”

มาร์ค ยกตัวอย่าง กระบวนการผลิตอาหารตามแนวคิด Circular Economy ว่าที่ผ่านมาบริษัทมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นเองเป็นแห่งแรก เช่น การทำการเกษตรแนวดิ่ง (Vertical Farming) ด้วยการนำน้ำฝนมาใช้รดน้ำต้นไม้ นับได้ว่าเป็นการทำการเกษตรระบบปิดที่นำทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้มาใช้ในการผลิตอาหาร โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปตลอดทั้งปี ทำให้สามารถปลูกผลการผลิตได้ถึง 30 ครั้ง ถ้าเทียบกับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่พึ่งพึงธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการผลิตทางเลือกอีกมายมายที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารอันเกิดจากวิธีการทำการเกษตรหรือประมงที่ไม่มีความยั่งยืน (เช่น Over Fishing) และมีการนำมาทำแล้วในหลายประเทศ เช่น การปลูกพืชควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลา (Aquaponics) การทำฟาร์มแนวดิ่ง (Vertical Farming) เนื้อสัตว์เทียม (Memphis Meats) และการผลิตเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-Based Meat) เป็นต้น

Circular Economy กับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย

สำหรับแนวทางการประยุกต์ Circular Economy มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยนั้น นายมาร์ค ได้ยกตัวอย่างจากเวที World Economic Forum ที่มีนวัตกรรมเข้ามาเปลี่ยนแปลงการกระบวนการผลิตอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ในประเทศไทยได้ เช่น Safety Net เป็นนวัตกรรมอวนที่มีแสงสเปกตรัมเฉพาะที่ถูกออกแบบมาเพื่อดึงดูดประเภทปลาที่ผู้ประกอบการต้องการ ช่วยป้องกันปลาประเภทอื่นที่ไม่ต้องการติดอวนขึ้นมา

มาร์ค บัคลี่ย์ นำเทรนด์ปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหาร รณรงค์เพื่อโลกยั่งยืน

“ปัญหาการประมงทุกวันนี้ คือ ชาวประมงใช้อวนตาถี่ที่ทำให้สัตว์น้ำทั้งที่ต้องการและไม่ต้องการติดอวนขึ้นมา และชาวประมงจะเลือกเฉพาะที่ตัวเองต้องการเท่านั้น และทิ้งสัตว์ทะเลชนิดอื่นที่ไม่ต้องการลงทะเล ซึ่งสัตว์เหล่านั้นก็จะตายโดยไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ แต่ Safety Net เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้สีที่เป็นสเปกตรัมต่างๆ โดยมีการศึกษากันว่าสปีชีส์ไหนมองเห็นแสงสีอะไร ก็ใช้แสงสีนั้นล่อให้มาติดอวนอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฝนตกชุก และมีอากาศชื้น ควรนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ เช่น เก็บความชื้นในอากาศในเมืองมาแปรเป็นขั้นตอนหนึ่งในการผลิตเครื่องดื่มได้”

รวมถึงการเสนอแนวทางปฏิรูปกระบวนการผลิตอาหารในระดับโลก เพราะทุกวันนี้ในทุกๆ การผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะมีของเหลือจากการผลิตมากถึง 1 ใน 3 ของเหล่านี้ถูกทิ้งไปโดยไม่ถูกกลับนำมาใช้ประโยชน์ และวิธีที่ผู้บริโภคทิ้งมี 3 ทางด้วยกันคือ ฝังกลบ เผา และทิ้งลงน้ำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ผืนดินขาดออกซิเจน ก่อให้เกิดแก๊สมีเทนที่ทำให้เกิดความร้อนมากยิ่งกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังเท่ากับว่าโลกสูญเสียทั้ง 2 รูปแบบคือ ทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานของคนที่ผลิต/ทำการตลาดพลังงานที่ใช้ในการผลิตและขนส่ง

สุดท้ายมาร์ค ให้แง่คิดอย่างน่าสนใจว่า ทุกวันนี้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่มักมีวิธีคิดเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด แต่นั่นอาจหมายถึงการเข้าไปเพิ่มต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโลกหลายเท่า

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การหากระบวนการผลิตที่ยั่งยืนซึ่งผมยอมรับว่ามันค่อนข้างมีความซับซ้อนและเป็นระบบซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ แต่หากทุกคนหาเจอแล้ว นอกจากจะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย พิสูจน์ได้จากผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ของผมได้ผลิตขึ้นมา พบว่าวิธีการผลิตเพื่อความยั่งยืนไม่ได้ใช้ต้นทุนมากเช่นในอดีต


ข้อมูล : งานสัมมนา Global Business Dialogue 2018 : Innovating the Sustainable Future จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ในหัวข้อ “Circular Economy: The Future of Food”


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save