อินโดรามา เวนเจอร์ส ครบเครื่องเรื่อง “รีไซเคิล”


บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ทั้ง PET เส้นใยโพลีเอสเตอร์ เส้นใยจากธรรมชาติและวัตถุดิบสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลในปีพ.ศ. 2554 และมีโรงงานแปรรูปขวด PET ที่ใช้แล้วเป็นเกล็ด เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) และเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลอยู่ด้วยกันหลายแห่งทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ โรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 35/8 หมู่ 4, ตำบลคขุนแก้ว อำเภอ นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

โรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ แรกเริ่มมีกำลังการผลิตติดตั้ง 40,000 ตันต่อปี เป็นการลงทุนครั้งแรกของบริษัทฯ ในอุตสาหกรรมโพลีเอสเตอร์ โรงงานแห่งนี้รับวัตถุดิบหลัก PTA จากโรงงาน อินโดรามา ปิโตรเคม และ โรงงานทีพีที ปิโตรเคมิคอลส์ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2554 บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงการผลิตเสร็จสมบูรณ์ ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 127,000 ตันต่อปี ผลิตภัณฑ์ที่มาจากโรงงานแห่งนี้รองรับลูกค้าในตลาดหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วัสดุสิ่งทอที่ใช้ในบ้าน สิ่งทอทางเทคนิคเป็นต้น

ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส

ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวถึงกระบวนการผลิตเม็พลาสติกรีไซเคิลของทางโรงงานว่า “อินโดรามา เวนเจอร์ส มีเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติกรีไซเคิล ที่ทันสมัย สะอาด ปลอดภัยและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป บริษัทฯ ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาคัดแยกก่อน เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออก ต่อด้วยการชำระล้างทำความสะอาดขวดพลาสติกในอุณหภูมิที่สูงอีกหลายขั้นตอน กำจัดเชื้อโรคและขจัดสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายออกระหว่างทาง ก่อนที่จะใช้ความร้อนสูงถึง 285 องศาเซลเซียสเพื่อนำเกล็ดพลาสติกที่ถูกสับละเอียดไปหลอมต่อ เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงสุด ทำให้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงาน rPET ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีการส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับการผลิตขวดไปจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และออสเตรเลีย”

โรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือเกือบ 1 แสนตันต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดรอดออกสู่ทะเลกลายเป็นขยะทางทะเล ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างในระดับโลก ขณะที่หลายประเทศตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงหันมาส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ให้การยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร แสดงให้เห็นว่า เม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มาตรฐานและปลอดภัยที่จะนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร โดยเยอรมนีเป็นประเทศ ที่มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดในสหภาพยุโรปถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศ ที่มีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดถึง 83 เปอร์เซ็นต์

โรงงานรีไซเคิลพลาสติก ขวด PET

“ในฐานะผู้ผลิตพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และขอยืนยันว่าพลาสติก PET ไม่ใช่ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่สิ้นสุดในหลายรูปแบบ หากนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มด้วย ยิ่งมีการนำพลาสติก PET กลับมาใช้ใหม่ได้มากเพียงใด ก็จะทำให้ความต้องการพลาสติกผลิตใหม่ลดลงมากตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลด้วยการสร้างรายได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และผลักดันให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลที่มีบทบาทสำคัญในการคัดแยกพลาสติกออกจากขยะอื่นๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย” ริชาร์ดกล่าว

เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET)

นอกจากนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ยังร่วมมือกับ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) เนื่องจาก ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”

โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายในขณะนั้นเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทยจึงต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ทั้งหมด ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET)

โดยทั้งสามองค์กรจะร่วมกันสร้างความเข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ทันสมัย และเห็นภาพกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกที่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้พลาสติกรีไซเคิลมีความสะอาดและปลอดภัย พร้อมให้ข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นกับภาครัฐ เพื่อปลดล็อคกฎหมายที่ยังห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และยังสอดคล้องกับนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของทั้งสามองค์กรอีกด้วย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save